CASE STUDIES กรณีศึกษา
การปรับวิธีขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่มีอยู่
กลไกในการจัดการความเสี่ยง
E-library
งานวิจัยและเอกสารอื่นๆ คลิกที่นี่
ทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นทรัพยากรพื้นฐานเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและเป็นแหล่งน้ำสำคัญ สำหรับการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และยังสำคัญต่อการไหลเสริมลำน้ำ ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ ระบบนิเวศทางน้ำ และมีผลต่อการขยายตัวของพื้นที่ดินเค็ม ซึ่งพบว่าได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่องค์ความรู้เรื่องกระบวนการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มผลกระทบระยะยาวและแนวทางการปรับตัวยังไม่มีความแน่ชัด เนื่องจากยังมีผลการศึกษาวิจัยรองรับไม่มากนัก ดังนั้นการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อแหล่งน้ำบาดาลจึงเป็นประเด็นวิจัย ที่สำคัญประเด็นหนึ่งทั่วโลกในขณะนี้ ในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงมีการพัฒนาใช้น้ำบาดาลเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมหลายพื้นที่และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเพิ่มขึ้นของประชากร พื้นที่เกษตรกรรม การขยายตัวของเมือง และระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ศักยภาพน้ำบาดาลของพื้นที่ถูกจำกัดด้วยปริมาณการเพิ่มเติมน้ำบาดาล ชนิดของหินอุ้มน้ำ และชั้นหินที่มีเกลือหินแทรกตัวอยู่ ซึ่งทำให้เกิดความเค็มในน้ำบาดาลและพบการแพร่กระจายของดินเค็มในหลายพื้นที่ดังนั้นการ ศึกษาระบบอุทกธรณีวิทยาเชิงแอ่งน้ำบาดาลการไหลของน้ำบาดาล และการประเมินศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลในลุ่มน้ำห้วยหลวง จึงมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำบาดาล และการวางแผนการป้องกันการขยายตัวของพื้นที่ดินเค็มให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ ภายใต้สภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำบาดาลอย่างต่อเนื่อง การศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสมดุลน้ำบาดาลและศักยภาพแหล่งน้ำบาดาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำห้วยหลวงนี้ จึงมีความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ และการวางแผนด้านระบบเกษตรกรรมในอนาคตอย่างมาก โครงการนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อศึกษาระบบอุทกธรณีวิทยาและประเมินศักยภาพทรัพยากรน้ำบาดาลในลุ่มน้ำห้วยหลวงต่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตรกรรมในปัจจุบันและอนาคต ภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการใช้น้ำบาดาลในอนาคต และประเมินความเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง- ดินเค็มในอนาคตในภาพรวมของลุ่มน้ำห้วยหลวง โดยจะเป็นการดำเนินงานคู่ขนานบนฐานข้อมูลเดียวกันกับการศึกษาแนวโน้มการแพร่กระจายดินเค็มในอนาคตในพื้นที่ปลูกข้าวสำคัญของจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวง กระบวนการทำงานจะประกอบด้วยการสำรวจ เก็บข้อมูลและทดลองในภาคสนามเพื่อจัดทำฐานข้อมูล ตีความระบบอุทกธรณีวิทยา และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเพิ่มเติมน้ำบาดาล การไหลของน้ำบาดาล จำลองการเพิ่มเติมน้ำบาดาล จำลองการไหลของน้ำบาดาล และการแพร่กระจายความเค็มในน้ำบาดาล โดยใช้เงื่อนไขสภาพภูมิอากาศปัจจุบัน ประเมินสมดุลน้ำบาดาลและการกระจายความเค็มในน้ำบาดาลในอนาคต ด้วยข้อมูลสภาพภูมิอากาศอนาคต 30 ปี และเพื่อประเมินศักยภาพน้ำบาดาลจัดทำแผนที่แสดงศักยภาพน้ำบาดาลในลุ่มน้ำห้วยหลวงในด้านการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรในปัจจุบัน และอนาคตและแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำขัง-ดินเค็มในอนาคต ช่วงเวลา 10 20 30 ปี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล ทรัพยากรน้ำ และพื้นที่ดินเค็มได้นำไปใช้ในการวางแผนการจัดการทรัพยากรน้ำดินและการใช้ที่ดินได้อย่างเหมาะสมในอนาคต
ดาวน์โหลดที่นี่