DOWN LOAD WEBSITE

  • โครงการพัฒนารูปแบบชุมชนและที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ : กรณีศึกษาน้ำท่วม (รศ.ดร. ณัชวิชญ์ ติกุล - 2557)

    ชุมชนแออัดเกิดขึ้นและกระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ควบคู่กับการพัฒนาเมืองและประเทศ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนและเมือง โดยที่เมืองเป็นแหล่งงานสําหรับผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยที่อาศัยในชุมชนแออัดเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มคนที่เป็นส่วนสําคัญต่อระบบเศรษฐกิจของเมือง เช่น เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นผู้ช่วยดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมเมืองโดยการเก็บขยะและของเก่าซึ่งเป็นการช่วยกําจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากเมืองได้เป็นอย่างดีเป็นต้น ในประเทศไทยเองก็มีชุมชนแออัดกระจายตัวอยู่ทั่วไปในเขตเมืองและพื้นที่โดยรอบเมืองต่าง ๆ เช่นเดียวกัน เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชลบุรี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

    จากผลการสํารวจข้อมูลชุมชนแออัดในจังหวัดเชียงใหม่พบว่ามีจํานวนแออัดทั้งสิ้นจํานวน 132 ชุมชน มีจํานวนครัวเรือนทั้งสิ้น 25,459 ครัวเรือน และมีแนวโน้มเพิ่มจํานวนมากขึ้นในอนาคต (พอช., 2554) การสํารวจดังกล่าวยังพบว่าผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดนั้นมีปัญหาในการอยู่อาศัยหลายประการ ได้แก่ ปัญหาด้านความแออัดและทรุดโทรมของที่อยู่อาศัย ปัญหาด้านสภาพที่อยู่อาศัยไม่มีความมั่นคงแข็งแรง ปัญหาเรื่องสิทธิในการครอบครองที่ดิน รวมถึงปัญหาภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในชุมชน

    เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมชุมชนแออัดครั้งใด จะส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยในชุมชนทั้งโรคภัยไข้เจ็บ การขาดแคลนอาหาร การขาดแคลนสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ บ้านชํารุดเสียหายหรือพังลง การไร้ที่อยู่อาศัย ในบางครั้งต้องมีการอพยพคนในชุมชนออกนอกพื้นที่ เนื่องจากสภาพของชุมชนและที่อยู่อาศัยไม่สามารถรองรับต่อภาวะน้ำท่วมนั้นได้

    ดาวน์โหลดที่นี่