DOWN LOAD WEBSITE

  • โครงการความเปราะบาง การรับรู้และการปรับตัว ของเกษตรกร ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา (ดร.จารุวรรณ เกษมทรัพย์ และคณะ - 2556)

    เกษตรกรในอำเภอบางน้ำเปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม และปัญหาน้ำท่วม ในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน เกือบทุกปี ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอาจส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นและการผันผวนของปริมาณน้า ฝนเพิ่มขึ้นตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคม เช่น การขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน เมือง และการท่องเที่ยวในพื้นที่โดยรอบ อาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำ และปัญหาการจัดสรรทรัพยากรน้ำในอนาคตได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาความเปราะบางของเกษตรกรในอำเภอบางน้ำเปรี้ยวเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดการปรับตัวในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม

    การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เบื้องต้นจากพื้นที่ทั้งหมด 10 ตำบล ต่อการเกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำเค็มจากน้ำทะเลรุกล้ำเพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิโดยการสำรวจภาคสนาม และการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม จากเกษตรกรชาวนา ชาวสวน และผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และคัดเลือกพื้นที่เสี่ยงภัย (critical area) 10 หมู่บ้าน เพื่อวิเคราะห์ความเปราะบางในปัจจุบันจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ พบว่าเกษตรกร หมู่ 1 บ้านบางเชือกเขา ตำบลโยธะกา มีความเปราะบางสูงจากปัญหาอุทกภัย ในขณะที่เกษตรกรหมู่1 บ้านบางเชือกเขา หมู่ 2 บ้านนาคา หมู่ 11 บ้านท่าช้าง ตำบลโยธะกา หมู่ 9 บ้านคลองหกวา หมู่ 10 บ้านคลองวา ตำบลดอนเกาะกา หมู่ 10 บ้านพงษก์ระถิน ตำบลโพรงอากาศ และหมู่ 18 บ้านประจำรัง ตำบลบางขนาก มีความเปราะบางจากปัญหาภัยแล้ง และปัญหาน้ำเค็มหนุน ซึ่งจากข้อมูลภาพฉายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต ในช่วงปีพ.ศ. 2583-2602 พบว่าปริมาณฝนรวมรายปี เฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อุณหภูมิมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยรายปีบริเวณอ่าวไทยตอนใน ในช่วงเวลา พ .ศ. 2553 – 2572 และ พ.ศ. 2573 – 2592 มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรชาวนา ชาวสวน ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่เสี่ยงของอำเภอบางน้ำเปรี้ยว มีความเปราะบางสูงขึ้นและจำเป็นต้องมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรในอำเภอบางน้ำเปรี้ยวอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีความตระหนักถึงความเสี่ยง และวางแนวทางในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยการพัฒนาสื่อและรูปแบบการสื่อสารความเสี่ยงแนวใหม่แก่เกษตรกรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เช่น การเล่นเกมส์ การใช้สื่อการ์ตูน นำไปสู่ยุทธศาสตร์การปรับตัวในการบริหารจัดการน้ำของเกษตรกร เช่น การทำคันกั้นน้ำ การปลูกพืชระยะสั้น แปรรูปสินค้าเกษตร การรับจ้างใช้แรงงานนอกพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวและแผนบริหารจัดการน้ำ ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว สามารถลดระดับความเปราะบางได้เฉพาะปัญหาอุทกภัยเท่านั้น ดังนั้น ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรเร่งให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างระบบชลประทานในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการเกษตรเพิ่มขึ้น

    สิ่งที่เรียนรู้ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ได้แก่ เทคนิคการสื่อสารแนวใหม่ซึ่งสามารถขจัดปัญหาการเข้าถึงข้อมูลปฐมภูมิของชุมชนเกษตรกรรม เทคนิคการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรโดยการใช้สื่อบุคคล ตลอดจนการพัฒนากระบวนการใหม่โดยใช้เกมส์เพื่อสื่อสารและกระบวนการกระตุ้นให้เกษตรกรกล้าที่จะคิดนอกกรอบ และมีความเป็นไปได้ในการปรับตัวในอนาคตในมุมมองของเกษตรกร และจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมในการคิดหาแนวทางปรับตัวอย่างเหมาะสม ตลอดจนการสร้างนักวิจัยใหม่ให้มีความรู้ความชำนาญในเทคนิคในการทำวิจัยมากขึ้น

    ดาวน์โหลดที่นี่