DOWN LOAD WEBSITE

  • โครงการ แนวทางการวางแผนด้านผังเมืองเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรณีศึกษาปัญหาน้ำท่วมและแนวทางการจัดการน้ำท่วมในเขตผังเมืองรวมพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ดร. วนารัตน์ กรอิสรานุกูล และคณะ - 2556)

    การศึกษานี้ได้ศึกษาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและการใช้ที่ดินในเขตผังเมืองรวมพุนพิน ต่อความเสี่ยงน้ำท่วมของชุมชน ทำการวิเคราะห์ความสามารถในการปรับตัวของชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อสถานการณ์น้ำท่วมในเขตผังเมืองรวมพุนพิน และทำการวิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงน้ำท่วมในเขตผังเมืองรวมพุนพินต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ที่ดินในอนาคต รวมไปถึงเสนอทางเลือกในการบริหารจัดการพื้นที่ของชุมชนเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงน้ำท่วมในอนาคต ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าชุมชนเมืองพุนพินมีทำเลที่ตั้งและสภาพภูมิประเทศที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัย การใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยสําคัญประการหนึ่งที่ทำให้ความเสี่ยงน้ําท่วมในเขตผังเมืองรวมพุนพินสูงขึ้น ผลประเมินระดับความสูงและจัดทำแผนที่ความสูงน้ำท่วมในปี 2554 ด้วย GIS พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตผังเมืองรวมพุนพินประสบปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 ความสูงของระดับน้ำอยู่ระหว่าง 0-6.0 เมตร บริเวณที่ระดับน้ำท่วมสูงมากได้แก่บริเวณที่ลุ่มต่ำฝั่งทิศใต้ของชุมชน บริเวณที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้อยคือพื้นที่ฝั่งตะวันตก การประเมินความเสียหายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2554 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านบ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มอาชีพค้าขาย ผลการศึกษาการปรับตัวของชุมชนต่อปัญหาน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพบว่าประชากรกลุ่มตัวอย่างรับรู้และเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่ยังมีข้อจำกัดในด้านความรู้ความเข้าใจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวมีลักษณะเป็นแบบปัจเจก ขาดการประสานงานระหว่างบุคคลและองค์กร การวางแผนด้านผังเมืองเพื่อลดความเสี่ยงมีแนวทางสําคัญ 5 ประการคือ การพัฒนาเมืองแบบ 2 ศูนย์กลาง การปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ที่ดิน การออกข้อกำหนดอาคารในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การลดปัญหาน้ำท่วมโดยฟลัดเวย์ และพื้นที่รับน้ำและการก่อสร้างและบำรุงรักษากำแพงป้องกันน้ำท่วม

    ดาวน์โหลดที่นี่