DOWN LOAD WEBSITE

  • โครงการกลไกการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กรณีศึกษาเปรียบเทียบเครือข่ายลุ่ม น้ำปะเหลียน จังหวัดตรังและเครือข่ายลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง (ดร. กุลวดี แก่นสันติสุขมงคล และคณะ - 2555)

    โครงการวิจัยนี้เสนอการศึกษากลไกการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (ทั้งภาวะความแปรปรวนของสภาพอากาศ–climate variability– และภาวะวิกฤต–extreme–) มีระดับการวิเคราะห์ศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศขององค์กรทางสังคมในระดับชุมชน จนถึงเครือข่ายทางสังคม โดยมีสมมติฐานการวิจัยว่ากลไกหลักในการขับเคลื่อนการปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย ความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคมโดยมีภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นทางเลือกในการปรับตัว งานศึกษานี้จึงเน้นชุมชนที่มีความเข้มแข็งของกลไกดังกล่าว ในขณะเดียวกับที่เป็นชุมชนที่มีความเปราะบางในเชิงนิเวศสูง คือชุมชนประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำปะเหลียน จังหวัดตรัง และลุ่มน้ำประแส จังหวัดระยอง ทั้งนี้เพื่อถอดบทเรียนการทำงานของกลไกในการขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การออกแบบงานวิจัยจึงเน้นการศึกษาเปรียบเทียบเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งจาก 2 ลุ่มน้ำที่พึ่งพาความหลากหลายของทรัพยากรประมงภายใต้ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยมีวัตถุประสงค์ย่อยดังนี้

    1. เพื่อศึกษาสภาวะความเปราะบางของชุมชนประมงที่เป็นชุมชนเข้มแข็งในระดับชุมชนและเครือข่าย

    2. เพื่อวิเคราะห์กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ

    3. เพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคมงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพด้วยการสำรวจครัวเรือน การสัมภาษณ์เชิงลึกและการอภิปรายกลุ่มประมงพื้นบ้าน และกลุ่มองค์กรชุมชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่ผลลัพธ์ในรูปแบบของตัวชี้วัดความเปราะบางในระดับครัวเรือน ชุมชนและเครือข่าย ผลการประเมินสภาวะความเปราะบางของครัวเรือน องค์กรและเครือข่าย กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนผ่านองค์กรเข้มแข็งและเครือข่ายทางสังคม ใน 5 องค์ประกอบคือ (1) การสร้างความตระหนักในความเสี่ยงที่เกิดขึ้น (2) การปรับประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการความเสี่ยง (3) การสร้างองค์ความรู้ในเทคนิควิธีรับมือกับความเสี่ยง (4) การระดมทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อจัดการความเสี่ยง และ (5) การจัดสถาบันในการจัดการความเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม ซึ่งเน้นให้เห็นปัจจัยที่จะทำให้การจัดการความเสี่ยงเกิดขึ้นได้และปัจจัยที่ทำให้บรรลุผลในการจัดการ

    ในส่วนของการศึกษาสภาวะความเปราะบางของชุมชนประมงที่เป็นชุมชนเข้มแข็งในระดับชุมชนและเครือข่ายพบว่า ถึงแม้ระบบนิเวศชายฝั่งจะเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางเชิงนิเวศสูง ชุมชนประมงพื้นบ้านทั้ง 2 ลุ่มน้ำมีความเปราะบางเชิงสังคมต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ต่ำ ทั้งนี้ด้วยความที่ชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 2 พื้นที่เปิดรับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ต่ำชุมชนจึงยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือและปรับตัวในระดับชุมชน ดังจะเห็นได้จากค่าคะแนนของศักยภาพในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศในระดับชุมชนที่ต่ำ ประกอบกับชุมชนทั้ง 2 พื้นที่มีความไวต่อผลกระทบที่ต่ำอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบเพียงพอถึงขั้นที่จะเกิดการเตรียมรับและปรับตัว ทั้งนี้การเปิดรับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ต่ำเป็นผลมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสำคัญที่กำหนดวิถีทางประมงที่พึ่งพาระบบนิเวศ ความหลากหลายของทรัพยากรและแหล่งรายได้เลี้ยงชีพ ส่วนความไวต่อผลกระทบที่ต่ำเป็นผลมาจากความเข้มแข็งขององค์กรทางสังคมเป็นสำคัญที่กำหนดการเข้าถึงทรัพยากร การแบ่งปันผลประโยชน์ สิทธิในที่ดินทำกินและการตั้งถิ่นฐาน ส่วนศักยภาพในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ต่ำนั้นเป็นผลมาจากองค์กรทางสังคมยังไม่มีบทบาทด้านนี้ในระดับชุมชน ส่วนใหญ่ครัวเรือนชาวประมงพื้นบ้านมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในระดับปานกลาง ชาวประมงสามารถลดความเปราะบางได้ด้วยการลดการเปิดรับต่อผลกระทบ และเพิ่มศักยภาพในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

    ชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 2 ลุ่มน้ำรับมือกับวิกฤตน้ำจืดปี 2554 ซึ่งเป็นวิกฤตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการคือ (1) ยุทธศาสตร์การรวมกลุ่ม (2)ยุทธศาสตร์การสำรอง (3) ยุทธศาสตร์ความหลากหลาย (4) ยุทธศาสตร์การพึ่งตลาด และ (5) ยุทธศาสตร์การย้ายที่ชาวประมงนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมมาประยุกต์ใช้ในการรับมือกับวิกฤต การตัดสินใจต่าง ๆ เกิดขึ้นในระดับครัวเรือน มีการปรึกษาหารือกันในกลุ่มเครือญาติและเพื่อนบ้านบ้างตามวิถี

    ลักษณะการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ (1) การรับมือต่อวิกฤตเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เช่น ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประการข้างต้น (2) การรับมือต่อวิกฤตเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ส่วนร่วม เช่น การเพิกเฉยต่อการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของทรัพยากรประมง/ระบบนิเวศ และการส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการใช้ทรัพยากรประมงอย่างเข้มข้นในพื้นที่นอกวิกฤต (3) การรับมือต่อวิกฤตที่ต้องการพฤติกรรรมร่วม (Collective action) เช่น การอนุรักษ์/ ฟื้นฟูฐานทรัพยากรร่วม การทำประมงหลังภาวะวิกฤตเป็นภาวะที่เปราะบางของระบบนิเวศ การอนุรักษ์ หรือฟื้นฟูระบบนิเวศซึ่งเป็นฐานทรัพยากรร่วมนี้ต้องการการก่อรูปสถาบันทางสังคมเพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรร่วม

    การรับมือต่อภาวะวิกฤตอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาทั้ง 2 พื้นที่เป็นการรับมือที่อยู่บนฐานการตัดสินใจของครัวเรือนมากกว่าชุมชน เป็นการใช้ภูมิปัญญาระดับครัวเรือนในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การก่อรูปสถาบันทางสังคมระดับชุมชนในการรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงไม่เกิดขึ้นทั้ง 2 พื้นที่ ถึงแม้ทั้ง 2 พื้นที่จะเป็นที่ที่มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มีองค์กรชุมชนและเครือข่ายอนุรักษ์ที่เข้มแข็ง แต่การรวมตัวกัน การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาการจัดการวิกฤตการทำลายฐานทรัพยากรมากกว่าจะเป็นการจัดการความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

    ในส่วนของการศึกษากลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 2 ลุ่มน้ำดำรงวิถีประมงด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นท่ามกลางระบบนิเวศที่มีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ภูมิปัญญาท้องถิ่นช่วยให้ชาวประมงมีการจัดการทรัพยากรประมงได้อย่างยืดหยุ่น และสอดคล้องกับพลวัตของระบบนิเวศ ชาวประมงเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน มีการธำรงรักษาความหลากหลายในรูปแบบต่าง ๆ มีการประสานความรู้ประเภทต่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้และมีการสร้างโอกาสในการจัดองค์กร/ สถาบันและเชื่อมประสานองค์กร/ สถาบันในระดับต่างๆ ก่อให้เกิดความยืดหยุ่นของสังคม

    ชาวประมงรับมือกับวิกฤตการทำลายฐานทรัพยากรด้วยการจัดการสถาบันในระดับชุมชนและเครือข่าย โดยสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในพลวัตของทรัพยากรและระบบนิเวศ ผนวกองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาเข้าสู่การปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรแบบยืดหยุ่นปรับตัว มีสถาบันที่มีความยืดหยุ่นเชื่อมโยงหลายระดับ และสามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จากภายนอก

    การสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในที่นี้เน้นการก่อรูปของสถาบันทางสังคมเพื่อการปรับตัวในระดับชุมชน ความท้าทายประการหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภาวะวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ การก่อรูปของสถาบันทางสังคมเพื่อรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นได้ยากกว่ากรณีที่ไม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ

    ปริมาณน้ำฝนมากในปี 2554 ส่งผลกระทบต่อวิถีประมงพื้นบ้านของทั้ง 2 ลุ่มน้ำ ชุมชนประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำปะเหลียนสูญเสียรายได้จากการประมงหอยตลับซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจของพื้นที่ หอยตลับตายจากปริมาณน้ำฝนที่มากและต่อเนื่อง ในขณะที่ชุมชนประมงพื้นบ้านลุ่มน้ำประแสสูญเสียรายได้จากการทำประมงสัตว์น้ำที่หนีน้ำจืดจากการระบายน้ำล้นเขื่อนลงปลายน้ำแม่น้ำประแส ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกระทบต่อทรัพยากรประมงยังเป็นประเด็นท้าทายในการปรับตัวของชุมชนประมงพื้นบ้าน

    กลยุทธ์ในการสร้างขีดความสามารถของชุมชนประมงพื้นบ้านในการจัดการความเสี่ยงอันเกิดจากวิกฤตต่างๆ ประกอบด้วย (1) การตระหนักในความเสี่ยงจากวิกฤตการทำลายฐานทรัพยากรที่เกิดขึ้น (2) ปรับประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อจัดการความเสี่ยง (3) มีการสร้างองค์ความรู้ในเทคนิควิธีรับมือกับความเสี่ยง (4) มีการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ และ (5) การจัดสถาบันเพื่อการจัดการความเสี่ยง การสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการรับมือกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศระดับชุมชนนั้น ไม่สามารถแยกองค์กรการจัดการออกมาจากองค์กรชุมชนที่มีอยู่ แต่เป็นลักษณะการเสริมศักยภาพองค์กรที่มีอยู่ให้มีความพร้อมมากขึ้นในการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาสู่กรอบคิดในการจัดการฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืนเพราะในทัศนะของชาวประมงพื้นบ้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติคือการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตอยู่รอดและการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดอย่างยั่งยืนต้องรักษาฐานทรัพยากรให้มั่นคง เพื่อเป็นฐานความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและลูกหลาน

    ความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านทั้งในรูปของผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและผลกระทบที่สะสมซึ่งจะส่งผลให้เกิดวิกฤตในอนาคตดังนั้นการพิจารณาในมุมมองการพัฒนาชุมชน หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบน

    ฐานของชุมชนจึงมีความจำเป็นต้องรวมประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไว้ในกรอบแนวคิดเดียวกัน ทั้งนี้มีมุมมองที่ขยายพื้นที่การจัดการและขยายระยะเวลาให้ยาวขึ้นสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เครือข่ายประมงพื้นบ้านจึงมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรประมงไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นขยายเครือข่ายประมงพื้นบ้านเชื่อมโยงกับเครือข่ายการจัดการน้ำที่ลุ่มน้ำประแส หรือเครือข่ายการจัดการลุ่มน้ำที่ลุ่มน้ำปะเหลียน เป็นต้น

    งานวิจัยเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการปรับตัวผ่านกลไกขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคม ด้วยปัจจัยที่จะทำให้การจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้และปัจจัยที่ทำให้บรรลุผลในการจัดการ

    ปัจจัยที่ทำให้การจัดการความเสี่ยงเกิดขึ้นได้คือองค์ความรู้ที่ช่วยสร้างความตระหนักในความเสี่ยง ซึ่งองค์ความรู้นั้นอาจเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือความรู้วิทยาศาสตร์ หรือการผสมผสานองค์ความรู้ทั้ง 2 รูปแบบสำหรับการจัดการความเสี่ยงจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชาวประมงพื้นบ้าน องค์ความรู้วิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในการเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักในความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และสามารถประเมินความเสี่ยงได้

    การจัดสถาบันเพื่อการจัดการความเสี่ยงสู่ความสำเร็จประกอบด้วย (1) การสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในพลวัตของทรัพยากรและระบบนิเวศ (2) การผนวกองค์ความรู้ทางนิเวศวิทยาเข้าสู่การปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรแบบยืดหยุ่นปรับตัว (Adaptive management) (3) การสร้างสถาบัน (กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ) ที่มีความยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกับระบบการจัดการทรัพยากรอื่นๆ และ (4) การจัดการกับตัวขับเคลื่อนจากภายนอก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากภายนอก

    ปัจจัยที่จะทำให้การจัดการความเสี่ยงบรรลุผลคือการจัดสถาบันที่อยู่บนฐานของศักยภาพในการปรับเปลี่ยน เรียนรู้ ก่อให้เกิดการลดการเปิดรับผลกระทบ และลดความไวของระบบเศรษฐกิจสังคมต่อสถานการณ์ของวกิฤต ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นยังคงมีบทบาทในการสร้างกระบวนการปรับเปลี่ยนเรียนรู้และจัดสถาบันให้สอดคล้องกับพลวัตของระบบนิเวศที่มีความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน แต่กระนั้นก็ตามประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์กรชุมชนที่เข้มแข็งและเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่อาจยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความตระหนักและรับมือต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภูมิปัญญาท้องถิ่นต้องมีการประสานกับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ องค์กรและเครือข่ายที่มีอยู่ต้องมีการหนุนเสริมศักยภาพเพื่อขยายขอบเขตการจัดการเชิงพื้นที่และเวลาให้ครอบคลุมภาพรวมของผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้เป้าประสงค์ขององค์กรชุมชนและเครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ยังคงเดินหน้าเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยเพิ่มลักษณะการจัดการที่ยืดหยุ่นและปรับตัว (Adaptive management) ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องอาศัยกระบวนการติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศที่มีมากขึ้น

    ดาวน์โหลดที่นี่